กระตุ้นการทำงานของคนในทีม ด้วย 5 วิธีที่คนเป็นหัวหน้าควรทำ

“หัวหน้า” เป็นหัวเรือที่จะคอยแจกแจงและบริหารทีมให้สามารถทำงานได้ลุล่วงตามที่กำหนด แต่ที่สำคัญกว่านั้น หากจะได้งานที่มีประสิทธิภาพก็ต้องมาจากทีมที่ดี ที่สามารถทำงานได้ตามที่คาดหวังด้วย นอกจากทักษะความสามารถและความรับผิดชอบของพนักงานแต่ละคนที่จะทำให้งานออกมาสำเร็จลุล่วงได้อย่างดีแล้ว คนเป็นหัวหน้าก็สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้คนในทีมได้เช่นกัน

เคล็ดลับสำคัญคือความเชื่อมั่นในตัวพนักงาน

ในฐานะหัวหน้า เราสามารถสร้างความรู้สึกดี ๆ ทัศนคติ และบรรยากาศดี ๆ ผ่านการบริหารงาน แวดล้อมในการทำงานได้ เราควรเชื่อมั่นกับศักยภาพในทีมของตัวเองที่เราเลือกเขาเข้ามาในทีม รวมทั้งทำให้เขามั่นใจว่าเขามีความสามารถและให้เขารับรู้ว่าเพราะอะไรเราถึงเชื่อมั่นในความสามารถของเขา หมั่นพูดคุยกับคนในทีมว่า ทีมของเราเป็นทีมที่มีศักยภาพมาก ให้เขาเห็นว่าเรามั่นใจและเชื่อมั่นใน ก็จะส่งผลต่อกำลังใจและทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่หากทีมสัมผัสได้ว่าเราเอาแต่กังวลว่าพวกเขาจะไม่สามารถทำงานได้สำเร็จตามเป้าหมาย ศักยภาพในการทำงานของทีมก็อาจลดลงได้เช่นกัน

หากไม่รู้เป้าหมายก็จะทำงานไปแบบไร้จุดหมาย

การตั้งเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้สมาชิกในทีมสามารถเดินหน้าต่อได้โดยไม่หลงทาง หากคนในทีมไม่รู้เป้าหมาย ความคาดหวังของหัวหน้าและองค์กร ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ดีสักเท่าไหร่ เราควรบอกให้เขาทราบถึงเป้าหมายและมาตรฐานในการวัดผลความสำเร็จที่ชัดเจน คนในทีมควรรู้ว่าหัวหน้าของเขาคาดหวังให้เขาทำอะไร อย่างไร และจะมีการวัดผลการทำงานยังไง จะช่วยให้ทีมลดความสับสนต่อการทำงานในอนาคตได้

การพูดคุยที่ไม่ใช่แค่รอให้พนักงานเดินเข้าไปหา

บางครั้งพนักงานจะคิดว่าคนเป็นหัวหน้ามักยุ่งอยู่ตลอดเวลาและไม่กล้าเข้าไปรบกวน การที่เราเดินเข้าไปหาทีมบ้าง เพื่อสอบถามเขาว่ามีปัญหาในการทำงานอะไรไหม อาจจะให้คำแนะนำ คำปรึกษา และกำลังใจก่อนที่เขาจะเอ่ยปากขอ ก็จะทำให้เขาเห็นว่าเราเห็นคุณค่า และให้ความสำคัญกับตัวเขา หรือเวลาที่คนในทีมมีปัญหาและต้องการขอความคิดเห็น ก็อย่าลืมให้เวลาและให้ความสำคัญกับพวกเขาด้วย

อย่ารอให้ฟีดแบ็กแค่ช่วงประเมินปลายปีเท่านั้น

ไม่ควรรอพูดคุยช่วงปลายปีหากทำดีก็ชื่นชมได้เลย เราควรหมั่นให้ฟีดแบ็กคนในทีมอยู่เสมอและควรทำทันทีเมื่อเห็นว่าเขาทำงานได้ดี หรือมีอะไรที่ควรปรับปรุง นอกจากเราจะสามารถฟีดแบ็กได้ตรงจุดแล้ว เรายังสามารถให้คำแนะนำที่ลงรายละเอียดเพื่อให้ทีมนำไปปรับใช้หรือแก้ไขได้ทันท่วงทีได้อีกด้วย ที่สำคัญอย่าเอาแต่พูดว่า “ทำดีแล้ว” หรือ “พยายามอีกหน่อยนะ” แต่ควรจะลงรายละเอียดเข้าไปอีกหน่อยว่าอะไรคือสิ่งที่เขาทำดีแล้ว และจุดไหนที่เขาควรจะต้องพัฒนาเพิ่มเติม

ชื่นชมและตำหนิอย่างมีศิลปะ

คำชม เป็นหนึ่งในกำลังใจและแรงผลักดันให้ทีมอยากทำให้งานออกมามีประสิทธิภาพมากขึ้น การชื่นชมเขาในที่สาธารณะ นอกจากจะทำให้คนที่ได้รับคำชมรู้สึกดีที่ได้เห็นว่าผลงานของตัวเองได้รับการยอมรับแล้ว ยังเป็นการช่วยกระตุ้นการทำงานให้กับคนอื่น ๆ ในทีมอีกด้วย

แต่กลับกันในกรณีที่คนในทีมทำงานผิดพลาด หรือมีอะไรบางอย่างที่ควรปรับปรุงคนเป็นหัวหน้าก็ไม่ควรตำหนิ หรือให้ฟีดแบ็กที่ไม่ดีต่อหน้าคนอื่น ๆ ในทีม คำตำหนิอาจสร้างแรงผลักดันให้กับบางคนแต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะยอมรับได้ ดังนั้นเมื่อต้องตำหนิหรือพูดถึงปัญหาในการทำงานต่าง ๆ ของพนักงานควรจะเรียกเขามาพูดคุยเป็นการส่วนตัว ในสถานที่ที่คนอื่น ๆ จะไม่ได้ยินการสนทนา และในการพูดคุยเราควรจะพิจารณาให้ดีก่อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเป็นปัญหาที่เกิดจากตัวพนักงานจริง ๆ หรือเกิดจากปัจจัยภายนอก หากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากตัวเขาจริงเราก็ต้องให้คำแนะนำและพูดให้เขาเห็นว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นสามารถแก้ไขมันได้ยังไงบ้าง

การกระตุ้นการทำงานของพนักงานให้สามารถทำงานออกมาอย่างมีคุณภาพก็ไม่ต่างอะไรกับการเริ่มเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพราะไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้เพียงแค่ข้ามคืน แต่ต้องใช้เวลาในการสร้างมันขึ้นมา และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ผลของการรอคอยนั้นจะทำให้สิ่งที่เราได้รับมานั้นยั่งยืนอย่างแน่นอน

credit : jobthai